เม็ดพลาสติกรักษ์โลก

1844 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เม็ดพลาสติกรักษ์โลก

การใช้ถุงพลาสติกได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วไป เนื่องจากซื้อง่ายใช้ง่าย ในวันหนึ่งๆ เห็นผู้คนใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วกันให้เกร่อไป แต่หากมองให้ลึกถึงมิติของความสูญเสีย เราก็จะพบกับความสูญเสียที่มิใช่น้อย ตั้งแต่งบประมาณการจัดเก็บและผลกระทบที่ส่งตรงถึงสภาวะแวดล้อม

เม็ดพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพ 100%

ยุทธนา เจียมตระการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โพลิโอเลฟินส์ ในเครือบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการตอบโจทย์ผู้ใช้งานถุงพลาสติกในชีวิตประจำวัน ที่ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตสารตั้งต้นเม็ดพลาสติกอย่างเอสซีจี เคมิคอลส์ จึงมุ่งพัฒนาคิดค้นเม็ดพลาสติก ที่สามารถขึ้นรูปเป็นถุงพลาสติกเพื่อใช้งาน และเมื่อใช้งานเสร็จก็สามารถย่อยสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติได้อย่างเป็นมิตร โดยแปลงสภาพเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้

สำหรับเม็ดพลาสติกรุ่นใหม่ หรือเม็ดพลาสติกรักษ์โลกมีชื่อว่า เม็ดพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพ 100% (Compostable Plastics Compound) โดยมีคุณสมบัติ คือ 1.ตอบสนองด้านความต้องการด้านสิ่งแวดล้อม เม็ดพลาสติกแบบใหม่ สามารถย่อยสลายได้ 100% ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน การผลิตใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น แป้งมันสำปะหลัง จึงช่วยลดการใช้วัสดุสิ้นเปลือง เช่น น้ำมัน

2.ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค เม็ดพลาสติกใหม่นี้สามารถขึ้นรูปแล้วใช้ได้เหมือนพลาสติกในปัจจุบัน

3.ตอบสนองความต้องการของผู้ผลิตถุงบรรจุภัณฑ์ ขึ้นรูปด้วยเครื่องจักรปกติที่ใช้อยู่ในโรงงานผลิตถุงบรรจุภัณฑ์ปัจจุบัน

ย่อยสลายได้จริง

เม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 100% หรือ Compostable Plastics Compound จากเอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นพลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบ ได้แก่ แป้งจากมันสำปะหลัง ผสมกับพลาสติกชีวภาพที่ผ่านการโพลิเมอไรเซชัน (Polymerization) สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพเมื่อได้รับการฝังกลบในสภาวะที่กำหนด ได้แก่ จุลินทรีย์ อุณหภูมิ และความชื้น แล้วจะแปรสภาพเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และดิน ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อระบบนิเวศ อาทิ สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในดิน หรือพืชที่ใช้ดินในการเจริญเติบโต สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นถุงบรรจุภัณฑ์ได้โดยจะคงคุณสมบัติย่อยสลายเมื่อฝังกลบในสภาวะที่กำหนด

สำหรับกระบวนการผลิต เริ่มจาก Agricultural Feedstock ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด หรือพืชตระกูลแป้งอื่นๆ ผ่านกระบวนการสกัดทางเคมี ได้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวสายสั้นๆ เข้าสู่กระบวนการโพลิเมอไรเซชัน เกิดเป็นโพลิเมอร์สายโซ่ยาว แล้วจึงนำโพลิเมอร์สายยาวที่ได้ไปผ่านกระบวนการ Compound กับแป้งมันสำปะหลังและสารเติมแต่งอื่นๆ จนได้เป็น Compostable Resin

Compostable Resin ที่ได้สามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (ถุงพลาสติก) ซึ่งใช้ได้กับเครื่องเป่าฟิล์มทั่วๆ ไปที่เป็นเครื่องสำหรับพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene : LDPE) หรือ โพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น (Linear Low Density Polyethylene : LLDPE) โดยที่จะใช้อุณหภูมิในการเป่าขึ้นรูปต่ำกว่าพลาสติกทั่วไป อุณหภูมิที่ใช้ประมาณ 150-165 องศาเซลเซียส

เนื้อหาเพิ่มเติม &เครดิต

https://www.posttoday.com/life/healthy/97299

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้